วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เริ่มฝึกบินกับพารามอเตอร์

ทางออกของคนอยากบิน

ในวัยเด็ก คุณเคยฝันอยากเป็นนักบินบ้างไหมครับ อยากขับเครื่องบิน อยากขับเครื่องร่อน อยากกระโดดร่มลงมาจากท้องฟ้า ถึงแม้วันนี้คุณจะมีงานอาชีพ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน แต่ความฝันในตัวคุณ ที่ติดมาตั้งแต่ยังเด็ก วันนี้เรามีทางออกทางเลือกหลายอย่าง ที่จะสานฝันให้เป็นความจริง
ในวัยเด็กของหลายท่าน ฝันที่จะขับเครื่องบิน อยากเป็นทหารอากาศ อยากบินได้เหมือนนก ยิ่งได้เห็นภาพการบินโชว์ที่สนามบินในงานวันเด็กแห่งชาติ เห็นทหารฝึกกระโดดร่มมองเห็นเป็นสิ่งแปลก เป็นความประทับใจที่อยากทำอย่างนั้นได้บ้าง แต่ด้วยการงานในสายอาชีพที่ทำอยู่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบินเหล่านี้เลย แต่ตอนนี้ถ้าคุณมีงานที่ลงตัวแล้ว มีทุนอยู่บ้างมีเวลาคุณก็สามารถ สร้างฝันของคุณให้เป็นความจริงได้ กีฬาทางอากาศมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน และส่วนใหญ่จะมีราคาแพง นี่ก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่คุณจะไม่พร้อมที่จะเสียเงินมากมาย กับกิจกรรมที่สร้างแต่ความสนุก
แต่มีกีฬาทางอากาศอยู่ชนิดหนึ่ง ดูจะเหมาะสมกับคนไทยอย่างเรา ยิ่งคนที่มีพื้นฐานความฝันด้วยแล้ว ออกจะลงตัว “ พารามอเตอร์ ” หรือ ” ร่มบิน “ หรือที่ป้าข้างบ้านผมเรียก ร่มเหาะ เป็นกีฬาที่เล่นได้ทุกวัย ใช้เงินในการเริ่มเล่นครั้งแรกไม่มาก เมื่อเทียบกับอากาศยานประเภทอื่น ราคาค่าเล่นต่อครั้ง 1 ชั่วโมงก็แค่น้ำมัน 3-4 ลิตรรวมออโตลู๊ป ก็ไม่น่าเกิน 70 บาท ใช้พื้นที่เล่นน้อยขึ้นได้แทบจะทุกที่ ส่วนใหญ่ก็จะบินเล่นกันใกล้ๆบ้าน พอว่างจากงาน ก็คว้าร่มคว้าเครื่องออกไปบิน แต่ก็ใช่จะอิสระเสียเต็มที่ เพราะว่ากีฬาทางอากาศทุกชนิดใช้น่านฟ้าเดียวกันหมดกับอากาศยานประเภทอื่น ซึ่งต้องมีกฎมีระเบียบ ความปลอดภัย ความมั่นคง อันนี้เป็นสิ่งที่นักบินต้องรู้ เพื่อจะได้เล่นอย่างสนุก และถูกต้องตามกฎหมาย แต่จะกล่าวรายละเอียดในภายหน้าครับ
พารามอเตอร์ ประกอบขึ้นด้วย 2 ส่วนหลักคือ ตัวร่ม และเครื่องยนต์ ตัวร่ม จะแตกต่างจากร่มที่ใช้กระโดดออกมาจากเครื่องบิน หรือร่มที่ใช้เรือลากแถวชายหาด จะเป็นร่มที่ออกแบบมาให้เป็นร่มมีอัตราที่ดีกว่า ปีกออกจะเรียวยาว เป็นแบบเดียวกันที่ใช้เล่นร่มร่อนตามภูเขา ช่วงแรกๆก็ใช้ร่มร่อนเนี่ยแหละ มาติดเครื่องเป็นพารามอเตอร์ แต่ตอนนี้ร่มบางยี่ห้อได้ออกแบบมาเพื่อบินพารามอเตอร์โดยเฉพาะบ้างแล้ว และต้องเลือกขนาด ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของนักบิน รวมเครื่องยนต์และสัมภาระอื่นทั้งหมด ราคาร่มใหม่ก็อยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นถึง 8 หมื่นบาท บางยี่ห้ออาจถึงแสนต้นๆ มองดูออกจะแพงอยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมเพราะประเทศเรายังยังทำเองไม่ได้ หรือจะหันไปเล่นร่มมือสองก็ได้ ราคาก็ขึ้นอยู่ที่สภาพร่ม อาจจะ 25,000 –40,000 บาทแล้วแต่จะตกลงกัน แต่จะทราบได้อย่างไร ว่าร่มจะบินได้ดีหรือปลอดภัยแค่ไหน ในเมืองไทยเรามีเครื่องเช็คสภาพร่มครับ ( Porosity Check ) เป็นมาตรฐานเดียวกับของต่างประเทศ ในต่างประเทศเขายึดถือมาตรฐานนี้เป็นหลัก เขาไม่ได้วัดค่าร่มตอนจะขายนะครับ เขาวัดเพื่อตัวเขาเอง อาจจะปีละครั้ง เมื่อไหร่ร่มเขาไม่อยู่ในสภาพพร้อมบิน เขาก็เลิกใช้ไปเลย เขาถือความปลอดภัยของตัวเขาเองเป็นสำคัญ เขาไม่เสียดายเงินกับอุปกรณ์ที่ปลอดภัยเลย
ร่มโดยทั่วไปก็จะใช้กันไม่เกิน 300 ชั่วโมงบิน ผ้าก็จะเริ่มเสื่อม สารที่เคลือบร่มก็จะหลุดลอกออก การเก็บกักอากาศจะไม่ดี เนี้อผ้ามีการอุ้มน้ำ ร่มจะหนักขึ้น ตั้งยาก อัตราการร่อนจะน้อยลง ต้องใช้แรงเครื่องมากกว่าเดิน อันนี้คืออายุร่มที่เสื่อมลงตามเวลาการใช้งาน ยังไม่รวมถึงความเสื่อมที่เกิดจาก การลากถูกับพื้น การตากแดดจัดเป็นเวลานานๆ การเก็บไว้ในที่อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม และการพับร่มที่ผิดวิธี รายละเอียดปลีกย่อย จะเขียนถึงในตอนต่อไปครับ
มาถึงเรื่องเครื่องยนต์ จะเป็นเครื่องยนต์ 2 จังหวะ 80 cc.-250 cc. มีชุดมูเลห์ทดแรงจากเพลามาใบพัด 2 เบส หรือ 3 เบส ถังน้ำมันจุ 5-10 ลิตร ทั้งหมดอยู่ในโครงวงกลมอลูมิเนียม หรือสเตนเลส เพื่อป้องกันสายร่มเข้าใบพัด ด้านหน้าจะเป็นฮาเน็ทที่นั่งนักบิน มีตัวล๊อค 3 จุดที่ขาทั้งสองข้างและที่หน้าอก ตัวเครื่องยนต์เมื่อติดเครื่องจะมีแรงผลักหลังประมาณ 45-65 กิโลกรัม แล้วแต่ชนิดเครื่อง ใบพัด และอัตราทดรอบ
ในบ้านเราแยกเครื่องยนต์ ออกเป็น 2 กลุ่มคือเครื่องยนต์จากต่างประเทศ และเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์เก่า
เครื่องยนต์ที่มาจากต่างประเทศ จะเบามีกำลังแรงม้าสูง ราคาจะอยู่ที่แสนกลางๆถึงสองแสนต้นๆ แต่ในบ้านเราคนที่อยากเล่นเครื่องนอกให้ได้ราคาถูกลง ก็จะไม่ซื้อเครื่องทั้งชุด แต่จะซื้อเฉพาะตัวเครื่องยนต์มา แล้วมาติดตั้งโครง หาฮาเน็ทในบ้านเราก็จะได้เครื่องนอกผสมของไทยราคาจะอยู่ราว แสนต้นๆ ข้อเสียของเครื่องนอกจะมีก็แต่อะไหล่แพง เพราะบ้านเราไม่มีขายบางชิ้นต้องสั่งเสียเวลารอ แต่โดยมากไม่ค่อยเห็นเครื่องนอกเสียบ่อยนัก จะต้องหาอะไหล่ ก็จะเป็นเพราะอุบัติเหตุมากกว่า
ส่วนเครื่องมอเตอร์ไซค์เก่า เป็นภูมิปัญญาของคนไทยโดยแท้ ต้องยอมรับว่าช่างที่คิดค้น และพัฒนาเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์เก่าทุกท่าน เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ วงการพารามอเตอร์นี้แพร่หลาย ขยายได้เร็วมาก เพราะราคาที่ถูกลงกว่าครึ่ง ทำให้คนสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น เครื่องที่นำมาทำพารามอเตอร์ หลักๆก็จะมีอยู่ 2 รุ่นคิอ JR ของ YAMAHA และ RGV ของ SUZUKI นำมาตัดชุดเกียร์ออก อุปกรณ์อื่นๆคนไทยสามารถทำเองได้หมด ไม่ว่าจะโครง ใบพัด ฮาเน็ท และท่อไอเสีย ในเมืองไทยมีช่างที่ทำเครื่องยนต์ และอุปกรณ์อยู่หลายเจ้า คุณสามารถดูได้จากเว็บไซด์ของเรา www.sportflyingthailand.com ดูที่เมนูลิ้งค์ที่เกี่ยวข้องกับพารามอเตอร์ มีอยู่ด้วยกันหลายเว็บไซด์ ส่วนราคาค่าเครื่องพร้อมบิน ก็อยู่ที่ประมาณ 35,000 – 55,000 บาทแตกต่างกันไป ค่อยๆศึกษาไปก่อนอย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ ข้อดีของเครื่องไทย คือะไหล่ถูกหาง่าย อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้าง กับปัญหาเสียจุ๊กจิก ก็เพราะมันเป็นเครื่องที่ดัดแปลงมา และเป็นเครื่องยนต์เก่า ทุกวันนี้หลายช่างก็ได้พัฒนากันจน ทนทาน และแรงดีมากแล้วครับ

และก็มาถึงช่วงสำคัญคือการฝึกบิน จะมีผู้รับฝึกสอนมากมายหลายท่าน แทบจะทั่วประเทศไทย โดยมากก็จะมาจากเล่นมาก่อนเป็นเวลานาน แล้วนำความรู้และประสบการณ์มาสอน บางท่านก็เรียนมาจากต่างประเทศ ราคาก็แตกต่างกันไป ประมาณ 8,000 – 15,000 บาท จะสอนให้คุณรู้จักอุปกรณ์ การทำงานของร่มและเครื่อง สอนการตั้งร่ม การบังคับร่ม และที่สำคัญคืออุตุนิยมวิทยา ตลอดจนกฎการบินต่างๆระยะเวลาการฝึกก็จะอยู่ที่ประมาณ 5-10 วันแล้วแต่วิธีการสอนของแต่ละท่าน บางท่านสอนแบบไม่กำหนดเวลา เพื่อจะให้คนที่เรียนได้รับความรู้ ความปลอดภัยจนถึงที่สุด ซึ่งก็ดีกับตัวนักเรียนเอง และเป็นการแสดงความเอาใจใส่ของคนสอนด้วย
คุณจะเลือกเรียนกับใคร ขอแนะนำให้โทรไปคุยหลายๆคน ถามรายละเอียด ถามอุปกรณ์ที่ใช้ฝึก และขั้นตอนการเรียน ถามให้แน่ถึงการเสียหายของอุปกรณ์ในระหว่างการฝึก จะสอนให้คุณบินกี่ไฟต์ อย่าได้เกรงใจ และนำมาวิเคราะห์ดู ต้องเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก และหมั่นหาข้อมูลคุยกับคนที่เล่นเป็นแล้วหลายๆคน อย่าเพิ่งเชื่อใคร อย่ารีบร้อนเรียน อุบัติเหตุก็จะมีบ้างเหมือนกันหมดทุกกีฬา แต่คุณจะต้องระวังป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดก่อน เรียนรู้อุบัติเหตุจากคนอื่นก็เป็นวิธีหนึ่ง ที่เราจะได้ทราบถึงเหตุผลของการเกิด และวิธีป้องกัน เรื่องบางเรื่องที่เป็นประโยชน์ อาจได้จากการนั่งคุยกันในหมู่นักบินก็ได้ นักบินจะมีจิตใจเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว เขาพร้อมที่จะเป็นมิตร และพูดคุยกับคุณ นักบินร่มเองก็อยากมีเพื่อนบินแยะๆ เวลาบินไปด้วยกันหลายๆร่ม วิทยุคุยกันมันสนุกดีครับ เสาร์อาทิตย์นัดกันบินเดินทางไปสถานที่สวยๆ ไปเที่ยวภูเขา ชายทะเล บินรอบเขื่อน ผมว่าเป็นความสุขที่นักบินอยากทำกันมากเลยครับ
คุณเริ่มจะเห็นช่องทางของการบิน พารามอเตอร์บ้างหรือยังครับ นี่เป็นแค่รายละเอียดรวมๆนะครับ ยังมีเรื่องที่จะต้องเรียนรู้กันอีกมากมาย คุณเรียนไปก่อน แล้วค่อยหาซื้อเครื่องและร่มที่หลังก็ได้ ถ้าซื้อคนเดียวไม่ไหว ก็หุ้นกับเพื่อนแล้วแบ่งกันเล่น ก็ยังเป็นวิธีที่พอจะเป็นเจ้าของได้ แต่เวลาเรียนไปเรียนทุกคนนะครับ อย่าคิดว่าไปเรียนคน แล้วจะกลับมาสอนอีกคน ไม่สนับสนุนครับ คนที่สอนคนบินได้ดีต้องมีความรู้มากกว่าแค่ให้คนบินได้ครับ
เมื่อคุณบินได้แล้ว มีโอกาสก็ควรหาเวลาไปสอบเพื่อรับใบอนุญาตนักบิน UPL เผื่อวันข้างหน้า ทางกรมการขนส่งทางากาศ ออกกฎมาเราจะได้เล่นกันอย่างถูกต้องไม่ต้องกังวล นับวันนักบินพารามอเตอร์ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นทุกวันถึงวันนี้ก็เกือบ 300 คนแล้ว เป็นธรรมดาที่เมื่อมีกลุ่มคนมากขึ้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็ต้องมีกติกามาควบคุมกัน แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง มันก็สะท้อนถึงจำนวนนักบินร่มเริ่มมากขึ้น วงการเริ่มโตขึ้นก็น่าดีใจครับ แต่ใช่ว่าทางกรมฯ จะใจร้ายกับนักบินพารามอเตอร์นะ เขาต้องทำตามหน้าที่ เพราะร่มบินใช้ท้องฟ้าเดียวกับอากาศยานทั้งหมด และออกจะเห็นใจพวกเราเสียด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาไม่นานก็เชิญตัวแทนชมรมร่มบินทั่วประเทศ และสมาคมกีฬาการบิน(ประเทศไทย) ร่วมหารือกับเจ้าหน้าของกรมฯ พูดคุยปรึกษาถามความคิดเห็น หาข้อสรุปถึงราคาค่าจดทะเบียนที่เหมาะสม หาพื้นที่เล่นที่ไม่กระทบกับอากาศยานอื่น ตลอดจนการอบรมเพื่อให้นักบินพารามอเตอร์ ได้รับใบอนุญาต และอีกหลายๆเรื่องเพื่อนำข้อสรุปนี้ นำส่งขึ้นตามขั้นตอนออกเป็นกฎต่อไป และเพื่อวงการพารามอเตอร์ที่จะโตขึ้นในอนาคต
และงานแข่งขันพารามอเตอร์ ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่คุณไม่ควรพลาด ถ้าไม่ไกลจนเกินไปนัก เพราะจะเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้รู้ ได้เห็นอะไรหลายๆอย่าง ทั้งคนเล่น ร่มรุ่นต่างๆ เครื่องยนต์แบบใหม่ ใบพัดดีไซด์แปลกๆ ดูทักษะการบินร่ม แต่ละคน แต่ละค่าย งานแข่งนี้ปีหนึ่งจัดประมาณ 3-4 ครั้ง ตามจังหวัดต่างๆ ปีนี้ที่ผ่านมาจัดไปแล้วที่จ.ชัยภูมิ ชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และงานที่ผ่านมาไม่นานที่จ.สุรินทร์ ชิงถ้วยพระราชทานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เป็นการรวมตัวกันมากที่สุดถึง 105 ร่ม ประเภทการแข่งขัน ก็จะเป็นการแข่งเดินทางไกลประกอบเข็มทิศ และบุคคลปฏิบัติ มีปาถุงแป้งลงจุด ดับเครื่องลงจุด touch and go ปลายปีนี้อาจมีอีกครั้งแต่ยังไม่แน่นอน และอาจจะมีกิจกรรมบินพารามอเตอร์ ร่วมฉลองครบรอบ 100 ปีการบินโลก ที่สองพี่น้องตระกูลไรท์ ได้สร้างประวัติศาสตร์การบินของโลกไว้ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1903
ถึงตรงนี้ คุณเริ่มย้อนคิดถึงความฝันในตัวคุณหรือยังครับ ฝึกไม่ยาก อุปกรณ์ไม่แพง ค่าใช้จ่ายต่อครั้งแสนถูก นี่แหละครับ ทางออกของคนอยากบิน….พารามอเตอร์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร FLY & FUN